News Ticker

จะเรียนปริญญาเอกต่างประเทศต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

จะเรียนปริญญาเอกต่างประเทศต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

ในความคิดของคนทั่วไปอาจจะมองว่าการเรียนปริญญาเอกจะต้องเรียนให้จบปริญญาโทก่อน และอาจจะเข้าใจว่าจบปริญญาโทจากไทยแล้วจะสามารถไปต่อปริญญาเอกได้ทันที ความจริงแล้วมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจะมองศักยภาพของตัวเราเป็นหลักมากกว่า โดยเฉพาะศักยภาพด้านการศึกษาของตัวนักศึกษาเอง

เราลองมาดูข้อกำหนดของมหาวิทยลัยในอังกฤษนะครับว่า มีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง (ที่ต้องยกตัวอย่างประเทศอังกฤษเป็นหลักเนื่องจากผู้เขียนจบมาจากประเทศนี้) จะทำให้เราได้เห็นภาพคร่าวๆ ของข้อกำหนดที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษจะรับเราเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก

ตัวอย่างเช่นหากเราต้องการเรียนต่อปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ ข้อกำหนดหลักๆคือ ผู้เรียนจะต้องเรียนจบระดับปริญญาตรีในระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือเกีรยตินิยมอันดับสองขั้นสูง หากได้รับเกียรตินิยมขึ้นต่ำกว่านี้ ก็จะต้องจบปริญญาโทในระดับเกียรตินิยมมาก่อน

ถามว่าทำไมต้องจบเกียรตินิยมมาก่อนถึงจะเหมาะสมกับการเรียนปริญญาเอกได้ นั่นก็เพราะว่าการเรียนในระดับปริญญาเอกนั้น จะต้องใช้ความพยายาม ความขยัน และความอดทนเป็นอย่างมาก ถ้าเรียนๆ เล่นๆ เหมือนสมัยปริญญาตรี ก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่าทั้งฝั่งผู้เรียนและทางมหาวิทยาลัย

เนื่องจากหัวข้อวิจัยที่ทางมหาลัยกำลังศึกษาอยู่นั้นต้องเป็นไปในแนวทางที่มหาวิทยาลัยได้รับเงินสนับสนุนการวิจัยมา หรือเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องการความเป็นเลิศในด้านนั้นๆ เช่นหากมหาวิทยาลัยต้องการความเป็นเลิศในด้านเทคโนโลยีดาวเทียม การค้นคว้าวิจัยต่างๆ ก็เพื่อเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ล้ำหน้าคู่แข่ง หากผู้เรียนทำวิจัยไปซักพักแล้วถอดใจ ไม่สู้ ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องหานักศีกษาคนใหม่มาทำ อันจะเป็นการเสียเวลา หรือพอได้คำตอบจากงานวิจัยปรากฏว่าล้าสมัยไปเสียแล้ว เป็นต้น

ดังนั้นผู้ที่เรียนจบแล้วได้เกียรตินิยมมานั้น ถือเป็นสิ่งรับรองตัวผู้เรียนในระดับหนึ่งว่า มีความสามารถ และความรับผิดชอบสูงพอที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาเอกได้ เพราะหากเรียนๆ เล่นๆ เที่ยวๆ ก็คงไม่ได้เกียรตินิยมมาแน่

ผู้เขียนเอง จบปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับสองไป และภาษายังไม่เข้าตา เลยต้องเรียนปริญญาโทก่อน ซึ่งอย่างน้อยก็เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาภาษาไปในตัว แต่การเริ่มต้นปริญญาเอกก็ยังมีด่านให้ฟันฝ่าอีกด่านหนึ่ง

นั่นคือนักศึกษาทุกคนจะลงทะเบียนเป็นว่าที่นักศึกษาปริญญาเอกก่อน หรือติดโปรไว้ก่อนนั่นเอง หลังจากทำวิจัยมาครบหนึ่งปี (จะมีข้อกำหนดเรื่องจำนวนเดือนของการติด probation ก่อนที่จะสอบ preliminary test) ก็จะมีโอกาสสอบหัวข้อวิจัย (เหมือนในไทย) นั่นคือจะต้องทำการศึกษาห้วข้อวิทยานิพนธ์ หรือที่เรียกว่า literature review เพื่อดูว่าในหัวข้อที่เราสนใจนั้นเขาทำกันไปถึงไหนแล้ว เครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้าง แล้วเราจะทำไปในทิศทางใด

ในการสอบหัวข้อก็จะเป็นซักถามความรู้ของเราหลังจากได้ค้นคว้าข้อมูลมาแล้ว 1 ปี ว่าเรารู้ลึกซึ้งแค่ไหน นักวิจัยคนไหนทำอะไรอย่างไรมาแล้ว เขาสรุปว่าอย่างไร เพราะเหตุใด เขาใช้เครื่องมืออะไร เครื่องมือนั้นๆ ทำงานอย่างไร สมัยที่ผู้เขียนสอบหัวข้อ ปรากฏว่าครั้งแรกไม่ผ่าน เนื่องจากพลาดตอบคำถามเรื่องหลักการทำงานของเครื่องมือบางอย่างไม่ได้ นั่นเพราะเราต้องรู้ถึงหลักการทางฟิสิกส์ของมันว่าทำงานอย่างไร เพราะอะไรถึงต้องใช้เครื่องมือนั้น เขาจะให้เวลาเราไม่เกินสองเดือนในการกลับไปสอบหัวข้อใหม่ ซึ่งโดยมากเราจะรู้จุดอ่อนของเราจากการสอบครั้งแรกไปแล้ว ความจริงอาจจะเป็นเพราะความไม่คุ้นเคยกับการทำวิจัยมากกว่าว่าต้องเข้าใจลึกซึ้งถึงเรื่องที่เราต้องรู้จริงๆ

ผู้เขียนเคยถามอาจารย์ที่ปรึกษาว่า มองปริญญาของไทยเป็นเป็นอย่างไร อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า มุมมองของอาจารย์ก็คือ ไม่ได้สัมผัสกับระบบการศึกษาของไทย ก็เลยมองเปรียบเปรยได้ว่า (ผู้เขียนขอเปรียบเทียบเองนะครับ) ถ้ามีคนจากประเทศเพื่อนบ้านมาศึกษาเล่าเรียนในบ้านเรา เรามองเขาอย่างไร ฝรั่งก็มองเราอย่างนั้นแหละครับ

นั่นหมายถึงว่า แม้คุณจะจบปริญญาโท เกียรตินิยมอันดับหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของไทยก็ตาม บางทีคุณก็อาจจะต้องเริ่มเรียนปริญญาโทใหม่อยู่ดี ดังนั้นจึงขอแนะนำว่า หากท่านมีความประสงค์จะเรียนปริญญาเอกในต่างประเทศแล้วละก็ อย่าเสียเวลามากมายไปกับการเรียนปริญญาโทในไทยเลยครับ เอาเวลานั้นไปเรียนภาษาให้เชี่ยวชาญแล้วไปลงเรียนปริญญาโทในต่างประเทศเลยดีกว่าน่าจะมีประโยชน์มากกว่า

ผู้เขียนพบว่านักศึกษาจาก มาเลเซีย และสิงคโปร์ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จะสามารถไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษอีกสองปี จะได้รับปริญญาตรี ซึ่งส่วนใหญ่จะทำโปรเจคปริญญาตรี แล้วขยันมาก ทำงานวิจัยทั้งวันทั้งคืน สรุปแล้ว ได้ข้อมูลเร็ว บางคนตีพิมพ์วารสารนานาชาติได้เลย อาจจะเนื่องจากต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเลยขยันมาก หลายคนได้รับข้อเสนอให้ต่อปริญญาเอกไปเลยหลังจากจบปริญญาตรี การสอบหัวข้อก็ทำได้รวดเร็ว สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ภายในสามปี จบ ปริญญาตรีอายุ 21 จบปริญญาเอกที่อายุราว 24 ปี เท่านั้น อนาคตการทำงานไปไกลเลยทีเดียว

ดังนั้นหากท่านตั้งเป้าหมายจะเรียนปริญญาเอกแล้วละก็ แนะนำว่าระหว่างเรียนปริญญาตรี ท่านจะต้องขยัน อดทน และทำเกรดให้ได้สูงๆ เพื่อความสำเร็จในการสมัครเข้าเรียนปริญญาโทของท่านเอง

Leave a comment